สธ. เผยขณะนี้ไทยยังติด 1 ใน 22 ประเทศในโลกที่มีวัณโรคชุก มีผู้ป่วย 120,000 คน ร้อยละ 16 ติดเชื้อเอชไอวีด้วย มีผู้ป่วยกว่า 4 หมื่นคนสามารถแพร่เชื้อติดคนอื่นได้ เร่งปรับแนวทางแก้ไขปัญหา ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ และใช้ยารักษาวัณโรคชนิดเม็ดรวมหลายขนาน กินง่าย โอกาสหายขาดสูง ลดปัญหาขาดยาและเชื้อดื้อยา โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนยาน้ำรักษาวัณโรคในเด็กกว่า 3 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มอัตราผู้ป่วยกินยารักษาครบสูตรและหายขาดให้ได้เท่ากับเกณฑ์สากลคือร้อยละ 85
วันนี้ (7 กรกฎาคม 2553) เวลา 09.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการวัณโรคและโรคระบบการหายใจระดับชาติ ครั้งที่ 8 เรื่อง “การควบคุมวัณโรคในประเทศไทย” เนื่องในวาระครบรอบ 75 ปี สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านวัณโรคในกทม.และต่างจังหวัด โรงพยาบาลเอกชน คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเพิ่มพูนความรู้เป็นเครือข่ายในการป้องกันและรักษาวัณโรค
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ได้จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาการควบคุมวัณโรค โดยไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 120,000 คน ร้อยละ 90 เป็นผู้ป่วยใหม่ที่สามารถแพร่เชื้อติดคนอื่นได้ 44,000 คน เสียชีวิตปีละประมาณ 13,000 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนานประมาณ 2,800 คนหรือร้อยละ 1.7 ปัญหาหลักที่ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาควบคุมวัณโรค เกิดเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 16 ติดเชื้อวัณโรคด้วย และอัตราการได้รับรักษาด้วยยาวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนของผู้ป่วยครบตามสูตร ซึ่งจะทำให้หายขาดมีความครอบคลุมเพียงร้อยละ 83 ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 นอกจากนี้ยังมีปัญหามีแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อวัณโรคเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ทำให้การควบคุมยุ่งยากขึ้น
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับแนวทางควบคุมโรควัณโรค โดยดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ และสมาคมปราบวัณโรค ร่วมค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ เพื่อให้การรักษาหายขาด มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้น โดยใช้ยาเม็ดชนิดรวมหลายขนานทั้งในใหญ่และเด็ก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยกินยาง่าย ลดปัญหาลืมกินยาและขาดยาได้ ในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนยาน้ำรักษาในเด็กซึ่งยังไม่มีการผลิตในประเทศไทยมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ใช้รักษาเด็กด้วย นอกจากนี้จะร่วมมือกับนานาชาติศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายา วัคซีนและเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันมากยิ่งขึ้น หากผู้ป่วยได้รับการรักษาครบสูตร ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 85 จะทำให้การควบคุมวัณโรคมีโอกาสประสบผลสำเร็จสูง ปัญหาอื่นๆเช่น การขาดยา เชื้อดื้อยา และการเสียชีวิตของผู้ป่วยจะลดลง ซึ่งจะสามารถลบชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีพื้นที่วัณโรคชุกได้สำเร็จ
ทั้งนี้ ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดให้ทุกจังหวัดค้นหาผู้ที่เสี่ยงป่วยวัณโรคสูงเช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เป็นต้น ทำให้สามารถค้นหาได้มากขึ้นถึงร้อยละ 74 ขณะนี้มีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนเกือบร้อยละ 90
ที่มา: ผู้จัดการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น