วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตรวจวัณโรควิธีใหม่ ได้ผลดีกว่าเดิม

การตรวจวัณโรคในเลือดได้ผลดีกว่าการตรวจแบบเดิมมากกว่าเท่าตัว ใช้ตรวจหาผู้เป็นพาหะได้แม่นยำขึ้น

แพทย์สามารถใช้เทคนิคนี้ตรวจเลือดผู้ที่กำลังจะเป็นวัณโรคได้ ส่วนวิธีตรวจแบบเดิมกระทำโดยการฉีดชิ้นส่วนเชื้อวัณโรคบางส่วนเข้าไปในร่างกาย หากผู้ได้รับการตรวจมีเชื้อวัณโรคอยู่ ผิวหนังจะปรากฏลักษณะบวมขึ้น
การตรวจแบบดั้งเดิมนี้คือการตรวจผิวหนัง มีแนวโน้มผิดพลาดได้ง่ายทำให้ผู้ตรวจพบต้องเข้ารับการรักษาโดยไม่จำเป็น ในทางกลับกันอาจตรวจไม่พบผู้เป็นพาหะทำให้เกิดการพัฒนาของเชื้อต่อไป
ศาสตราจารย์ อจิท ลาลวานี นักวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน อธิบายว่า การตรวจเลือดแบบใหม่นี้ ใช้หลักการ enzyme-linked immunospot หรือ ELISpot สามารถตรวจพบผู้เป็นพาหะได้ดีกว่าวิธีเดิมเป็นเท่าตัวหรือเท่าตัวครึ่ง
ELISpot ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการตรวจหาสารที่เซลล์ชนิดหนึ่งหนึ่งหลั่งออกมา (cytokine) หรืออาจเป็นแอนติเจน (antigen) ก็ได้ หลักการคือเคลือบแอนติบอดี (monoclonal antibody) ชนิดที่จำเพาะต่อ cytokine ที่ต้องการตรวจลงไปบนภาชนะขนาดเล็ก (microplate) ก่อน ในภาพล่างสุดจะเห็นลักษณะภาชนะที่ใช้เป็นถาดที่มีหลุมเล็ก ๆ อยู่ครับ แต่ละหลุมคือตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยแต่ละราย หลังจากนั้นใส่เซลล์ที่ถูกกระตุ้นลงไปในที่นี้เป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง ทิ้งไว้สักพักให้แอนติบอดีที่เคลือบไว้บนผิวภาชนะจับกับแอนติเจนหรือสารเคมีที่เซลล์หลั่งออกมา เสร็จแล้วล้างเซลล์และสารที่ไม่เกิดการจับกันออกไป หลังจากนั้นใส่เอนไซม์ที่จะไปจับเฉพาะ แอนติบอดีที่มีแอนติเจนอยู่ แล้วใส่สารตั้งต้นของเอนไซม์ลงไป เมื่อทำปฏิกิริยากันจะปรากฏสีให้เราเห็นครับ แสดงว่าช่องที่เกิดสีเป็นเลือดของคนที่ติดวัณโรคนั่นเอง


ลาลวานี ผู้เผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ในวารสารการแพทย์แห่งชาติประจำปี กล่าวว่า หากลองพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเมื่อตรวจด้วยวิธีใหม่จะพบว่าแตกต่างจากจำนวนที่ตรวจพบด้วยวิธีเก่าอย่างสิ้นเชิง

ลงมือศึกษา

ลาลวานีและคณะได้ทำการสำรวจเด็กสุขภาพดีในตุรกีจำนวน 908 คน ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคในท้องถิ่น

ผลตรวจผิวหนังพบว่าเด็กจำนวน 580 คน ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงและต้องเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการพัฒนาเป็นระยะก่อโรค แต่เมื่อตรวจเลือดพบผู้เป็นระยะแฝงเพียง 380 คนเท่านั้น
หลังจากเข้ารับการรักษา พบว่าเด็กจำนวน 12 คนพัฒนาเป็นระยะก่อโรคโดยในจำนวนนี้ได้รับการตรวจโดยวิธีตรวจเลือด 11 คน
ลาลวานี กล่าวว่า ผลตรวจเลือดทำให้แพทย์รักษาเด็กเพียงแค่ 380 คน แทนที่จะต้องรักษาถึง 550 คน การตรวจเลือดนี้ ช่วยให้แพทย์รักษาเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจริง ๆ เท่านั้น
คาดว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาวิธีตรวจเลือดให้แม่นยำมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในประเทศที่กำลังพัฒนาครับ


ที่มา: http://www.abc.net.au/science/articles/2008/10/21/2396818.htm?site=science&topic=latest

อ้างอิง: http://www.protocol-online.org/prot/Protocols/ELISPOT-3702.html
http://www.unisys-th.com/attachments/Image/TB.bmp

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น